วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

จังหวัดขอนแก่น

 คำขวัญ 
พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูน ศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยว เที่ยวขอนแก่นนครใหญ่ ไดโนเสาร์ลือก้อง เหรียญทองมวยโอลิมปิค
สถานที่ท่องเที่ยว
 

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ
 อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เป็นพื้นที่ในบริเวณที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียง เหนือตอนบน ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู พื้นที่ตอนล่างของจังหวัดอุดรธานี และตอนบนของจังหวัดขอนแก่น สภาพธรณีเป็นภูเขาหินทรายซึ่งมีชั้นของของหินทรายอยู่ด้านบนระดับผิวดิน โดยมีชั้นของหินดินดาน หรือหินดินดานปนทรายเป็นฐาน ด้านล่างมีดินประเภทดินลูกรังและดินร่วนปนทรายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ และสภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีเนื้อที่ประมาณ 201,250 ไร่ หรือ 322 ตารางกิโลเมตร



Image5

อุทยานแห่งชาติภูเวียง
คำว่า “ภูเวียง” เป็นท้องที่อำเภอที่เก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่นอำเภอหนึ่ง และยังเป็นชื่อเรียกของเทือกเขาซึ่งปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าภูเวียงให้เป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ในท้องที่อำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู อำเภอชุมแพ และกิ่งอำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น มีหลักฐานว่าป่าภูเวียงเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีอารยธรรมเมื่อหลายพันปีล่วงมาแล้ว มีการขุดพบกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องมือ เครื่องใช้ โลหะสำริด พระนอนสมัยทวาราวดี รวมทั้งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำ (หลืบเงิน) บนเทือกเขาภูเวียง นอกจากนั้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2519 มีการค้นพบรอยเท้าและซากกระดูกไดโนเสาร์ และสัตว์โลกดึกดำบรรพ์อายุเกือบ 200 ล้านปี ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยและเสด็จทอดพระเนตร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2532


เดิมป่าภูเวียงได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 64 พ.ศ. 2508 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2508 และได้เปิดการทำไม้ในพื้นที่ดังกล่าวตามเงื่อนไขของรัฐบาล โดยมีบริษัทขอนแก่นทำไม้เป็นผู้รับสัมปทาน จากการที่พลเอกหาญ สีนานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปตรวจราชการและทำการบินตรวจสภาพป่าทางอากาศ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2530 พบว่า สภาพป่าบางส่วนมีสภาพสมบูรณ์ดี จึงดำริให้สงวนป่าที่สมบูรณ์ไว้เป็นอุทยานแห่งชาติ และให้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและติดตามผลการทำไม้ตามเงื่อนไขสัมปทานในส่วนที่ได้ผ่านการทำไม้แล้วและที่กำลังดำเนินการทำไม้อยู่ ผลการตรวจสอบโดยคณะเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน.ภาค 2 และเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2530 ปรากฏว่า การทำไม้ในป่าสัมปทานโครงการภูเวียง (ขก.2) ตอน 7 แปลง 21 โดยบริษัทขอนแก่นป่าไม้ ได้ดำเนินการทำไม้ตามระเบียบ นโยบาย และเงื่อนไขสัมปทาน และได้เหลือไม้ที่สงวนไว้พอประมาณ ตามหนังสือรายงานของจังหวัดขอนแก่นที่ ขก 0009/21641 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2530 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีบันทึกสั่งการลงวันที่ 16 มิถุนายน 2530 ให้กรมป่าไม้พิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติภูเวียง


เขื่อนอุบลรัตน์

เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน สร้างกั้นลำน้ำพอง ตรงช่องตเขาแนวต่อของเทือกเขาภูพานและภูพานคำ บริเวณเขื่อนมีทิวทัศน์สวยงาม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการท่องเที่ยวครบครัน เป็นที่นิยมไปพักผ่อนกันมากตลอดเวลา

อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน

อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เรียกตามชื่อของภูเขาเทือกหนึ่งทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติที่มีหน้าผาสูงชันคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มองดูเหมือนกับผ้าม่านผืนใหญ่ อยู่ในท้องที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มีเนื้อที่ประมาณ 350 ตารางกิโลเมตร หรือ 218,750 ไร่


อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ปัจจุบันผลจากการทำสัมปทานป่าไม้ทำให้พื้นป่าและจำนวนสัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 1473/2532 ลงวันที่ 27 กันยายน 2532 มอบหมายให้ นายพนม พงษ์สุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 4 ให้สำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งพื้นที่ป่าดงลาน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และป่าภูเปือย อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และพื้นที่ป่าใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติ จากการสำรวจพื้นที่พบว่า เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธารและมีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง โดยเฉพาะถ้ำและน้ำตก


ทางราชการจึงมีประกาศกฤษฎีกา กำหนดให้รวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูเปือย อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เข้ากับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงลาน ท้องที่อำเภอชุมแพ กิ่งอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ในปี พ.ศ.2534 โดยได้พระราชกฤษฏีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าดงลานในท้องที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ และตำบลห้วยม่วง ตำบลวังสวาบ ตำบลนาฝาย ตำบลภูผาม่าน กิ่งอำเภอภูผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และป่าภูเปือยในท้องที่ตำบลภูกระดึง ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เนื้อที่โดยประมาณ 218,750 ไร่ หรือ 350 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 215 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2534 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 72 ของประเทศ


                                                                                                                                                                         




            







 บึงแก่นนคร

ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลขอนแก่น อยู่ระหว่างบ้านเมืองเก่า
บ้านโนนทันและบ้านตูมใกล้ที่ตั้งของศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น
 เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ มีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ มีน้ำตลอดปี ในฤดูฝน
จะมีน้ำเต็มฝั่งสวยงาม แต่ละมุมยังมีสิ่งก่อสร้างทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม มีรูปปั้นเกี่ยว
กับการดำรงชีวิตและศิลปะอีสาน เช่น คนเป่าแคนขี่ควาย มีล้อเกวียน มีรูปกิ้งก่ายักษ์ มีรูป
นกแร้งกำลังกินงู มีรูปคางคก กบ เต่า และอื่น ๆ อีกมากมาย



อุทยานแห่งชาติน้ำพอง

อุทยานแห่งชาติน้ำพอง เป็นชื่อเรียกตามต้นกำเนิดลำน้ำพองที่ไหลมารวมกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ (เดิมชื่ออ่างเก็บน้ำน้ำพอง) เป็นอุทยานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของจังหวัดขอนแก่น แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “น้ำพอง-ภูเม็ง” เพราะมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเทือกเขาภูเม็ง อุทยานแห่งชาติน้ำพองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดขอนแก่นติดกับเขื่อนอุบลรัตน์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโสกแต้ ป่าภูเม็ง ป่าโคกหลวง ป่าโคกหลวงแปลงที่สาม ป่าภูผาดำ ป่าภูผาแดง ในเขตอำเภออุบลรัตน์ อำเภอบ้านฝาง อำเภอหนองเรือ อำเภอมัญจาคีรี และ กิ่งอำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของ อำเภอบ้านแท่น อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ 197 ตารางกิโลเมตร หรือ 123,125 ไร่


จังหวัดขอนแก่น ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 มีนาคม 2538 ขอให้กรมป่าไม้พิจารณากำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเม็ง ป่าโคกหลวง ป่าโคกหลวงแปลงที่สาม ในท้องที่จังหวัดขอนแก่น ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 และ 17 มีนาคม 2535 เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีทิวทัศน์และจุดเด่นที่สวยงาม โดยจังหวัดขอนแก่นได้แต่งตั้งคณะกรรมการทำการสำรวจปรับปรุงแนวเขตให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ทุกฝ่ายแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องแนวเขตและที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าดังกล่าว


กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าดังกล่าวปรากฏว่า พื้นที่ป่ายังมีความสมบูรณ์ หากพิจารณาตามความหมายของอุทยานแห่งชาติแล้วยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่สมควรอนุรักษ์ไว้สำหรับประชาชนจังหวัดขอนแก่น โดยเห็นสมควรกำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ใกล้เคียงเพิ่มเติม ได้แก่ ป่าโคกหลวง ป่าภูผาดำ และป่าภูผาแดง จังหวัดชัยภูมิ และป่าโสกแต้ รวมพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นอุทยานแห่งชาติด้วย เนื่องจากยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ มีจุดเด่นและจุดชมทิวทัศน์ที่น่าสนใจ


อุทยานแห่งชาติน้ำพองได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าโสกแต้ในท้องที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ ตำบลทุ่งโป่ง ตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ ตำบลนาหว้า ตำบลหนองกุงเซิน อำเภอภูเวียง ตำบลโคกงาม ตำบลป่าหวายนั่ง ตำบลบ้านฝาง อำเภอบ้านฝาง และตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ป่าภูเม็ง และป่าโคกหลวง ในท้องที่ตำบลบ้านเม็ง ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ ตำบลคำแคน ตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี ตำบลป่ามะนาว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น และตำบลสระพัง ตำบลบ้านเต่า ตำบลหนองคู อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ และป่าโคกหลวง ป่าภูผาดำ ป่าภูผาแดง และป่าโคกหลวง แปลงที่สาม ในท้องที่ตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี ตำบลบ้านโคก ตำบลซับสมบูรณ์ กิ่งอำเภอโคกโพธิ์ไชย อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และตำบลหนองสังข์ ตำบลบ้านแก้ง ตำบลช่องสามหมอ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 105ก ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2543




  พระธาตุขามแก่น
            พระธาตุขามแก่น เป็นเจดีย์ที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น องค์พระธาตุขามแก่น ประดิษฐานอยู่ที่วัดเจติยภูมิ บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่นไปตามถนนขอนแก่น - ยางตลาด เลี้ยวซ้ายบริเวณบ้านพรหมนิมิตร อำเภอเมืองขอนแก่น ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นเจดีย์สำคัญที่รู้จักกันดีแห่งหนึ่งในภาคอีสานไม่ปรากฎอายุ การสร้างที่แน่นอน
พระธาตุขามแก่น มีประวัติความเป็นมาเป็นเรื่องเล่าขานกันมาช้านาน ว่ากษัตริย์แห่งโมริยวงศ์ได้ทรงทราบข่าวการสร้าง เจดีย์ที่เมืองนครพนม ซึ่งพระอรหันต์ พระเถระและชาวเมืองนครพนมในสมัยนั้นร่วกันสร้างด้วยแรงศรัทธา เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีรักธาตุ แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยให้ชื่อจดีย์องค์นั้นว่า "พระธาตุพนม" กษัตริย์แห่งเมืองโมริยวงศ์ มีศรัทธาใคร่จำนำอังคารธาตุไปร่วม ประดิษฐานร่วมกับพระบรมสารีริกธาตุ จึงอัญเชิญพระอังคารธาตุออกเดินทางปยังเมืองนครพนม พร้อมด้วยพระอรหันต์ 9 องค์ ในระหว่างการเดินทางได้พากันพักแรมค้างคืน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีตอมะขามใหญ่ตายซากตอหนึ่งผุเหลือแต่แก่น และได้อัญเชิญ พระอังคารธาตุวางไว้บนตอมะขามผุนั้น เมื่อเช้ารุ่งขึ้นจึงออกเดินทางต่อไปยังเมืองนครพนม ครั้นเมื่อลุถึงเมืองนครพนมกลับปรากฎว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จ สมบูรณ์และได้บรรจุพระบรมสารีกธาตุไว้ในองค์พระธาตุเรียบร้อยแล้ว จะนำสิ่งใดเข้าไปบรรจุภายในมิได้อีกแล้ว ดังนั้นโมรียกษัตริย์และคณะ จึงได้ออกเดินทางกลับตามเส้นทางเดิมด้วยความผิดหวังที่ไม่สามารถอันเชิญพระอังคารธาตุไปประดิษฐาน ณ พระธาตุพนมได้ เมื่อเดินทางผ่านมาถึงตอมะขามใหญ่ซึ่งเคยพักค้างแรม ต่างประหลาดใจ เมื่อปรากฎว่าตอมะขามผุนั้น กลับเจริญงอกงามแตกใบเขียวขจี โมรียกษัตริย์และคณะเห็นเป็นอัศจรรย์ในบุญญาธิการแห่งพระอังคารธาตุ ที่แผ่พระเมตตาแม้ตอมะขามตอหนึ่ง จึงทรงโปรดให้สร้าง พระธาตุเจดีย์ครอบต้นมะขามใหญ่ดังกล่าว และอัญเชิญพระอังคารธาตุประดิษฐานไว้ภายในพระธาตุองค์นั้น และได้บรรจุพระธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า 9 บท ไว้ในเจดีย์นั้น เรียกว่า "พระเจ้าเก้าองค์"
ต่อมาบริเวณนั้นได้มีชาวบ้านมาอยู่อาศัยกันมากขึ้นกลายเป็นหมู่บ้านมีชื่อ "บ้านขาม" ตามชื่อตอมะขามอันเป็นที่ประดิษฐาน พระอังคารธาตุ ต่อมาได้ย้ายเมืองต่อๆ มาหลายแห่ง จนลุถึง พ.ศ.2340 ในรัชสมัยระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่หนึ่ง
เพีย เมืองแพน นายกองบ้านชีโหล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ จึงอพยพผู้คนไปตั้งบ้านเรือนที่ "บ้านบึงบอน" ขอสมัครอยู่กับเมืองนครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาจึงมีใบบอกไปยังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเพี้ย เมืองแพน เป็นเจ้าเมือง และพระราชทานชื่อใหม่ว่า "พระนครศรีบริรักษ์" ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็น "เมืองขอนแก่น" จึงนับเอาปี พ.ศ.2340 เป็นปีแห่งการตั้งเมืองขอนแก่น สันนิฐานกันต่อๆ มาโดยตลอดว่าบริเวณดังกล่าว น่าจะมีขอนไม้มากแต่อีกประการหนึ่ง ก็กล่าวว่า น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "ขามแก่น" พระธาตุขามแก่นมีลักษณะเป็นพระธรรมเจดีย์ (ตามลักษณะเจดีย์สี่แบบ คือ พระธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ พระธรรมเจดีย์ และอุเทสิกเจดีย์ ) จัดอยู่ในกลุ่มพระธาตุฐานต่ำแบบพื้นบ้านบริสุทธิ์ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในสมัยต่อมาจนมีรูปแบบและทรวดทรงที่แปลก ออกไป ปัจจุบันพระธาตุขามแก่นมีลักษณะประกอบด้วยฐานบัวคว่ำสองชั้น ลักษณะโค้งย้วย เหลือขึ้นไปเป็นบัลลังค์ ต่อด้วยเรือนธาตุและยอดธาตุ ซึ่งย่อมุมกลีบมะเฟือง จากนั้นจึงเป็นสวนปลียอดและฉัตร

 เทศกาลดอกคูณเสียงแคน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี บริเวณบึงแก่นนคร กิจกรรมเริ่มด้วยการทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระ ภายในงานมีการจัดแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้าน ขบวนเกวียนบุปผชาติ การประกวดอาหารอีสาน การแข่งเรือในบึงแก่นนคร การประกวดกลองยาว การแสดงบนเวทีและการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง เป็นต้น
 งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาด จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม เป็นเวลา 12 วัน 12 คืน บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยวนี้ สืบเนื่องมาจากประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาชีพรองที่นอกเหนือจากการทำนา คือ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าต่างๆ ซึ่งทางราชการได้ให้การสนับสนุนจนจังหวัดขอนแก่นเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียง ประกอบกับมีประเพณีการผูกเสี่ยวซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของภาคอีสาน ที่มุ่งให้คนรุ่นเดียวกันรักใคร่เป็นพี่เป็นน้องช่วยเหลือกัน เรียกว่า “คู่เสี่ยว” เพื่อมุ่งส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหมและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้ ในงานจะมีขบวนแห่คู่เสี่ยวและพานบายศรีของอำเภอต่างๆ มีพิธีผูกเสี่ยว การประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน งานพาข้าวแลง(การรับประทานอาหารค่ำแบบพื้นเมืองอีสาน) การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกต่างๆ
 เทศกาลไหว้พระธาตุขามแก่น จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันเพ็ญเดือนหก (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6) ณ วัดเจติยภูมิ เป็นงานเฉลิมฉลองพระธาตุเพื่อให้ประชาชนได้สักการะพระธาตุคู่บ้านคู่เมือง ในงานมีการแสดงศิลปะพื้นบ้าน และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ
 การฟ้อนเตี้ย เคยนิยมเล่นในช่วงตรุษสงกรานต์ ในหมู่คนอีสานโดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นได้สืบทอดกันมาหลายชั่วรุ่น นับว่าเป็นสิ่งที่ให้ความสนุกสนานครื้นเครงในวงสมาคมได้อย่างดี หนุ่มสาวจะจับคู่กันฟ้อนเตี้ย โดยมีหมอแคนเป็นผู้เป่าให้จังหวะ ท่าฟ้อนยิ่งแปลกมากเท่าใดก็จะยิ่งเรียกความสนใจจากคนดูได้มากเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้จะมีก็แต่ผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นที่ยังคงฟ้อนเตี้ยได้